วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีการเกษตร ต้นอ่อนทานตะวัน



เทคโนโลยีการเกษตร
องอาจ ตัณฑวณิช ชมรมการจัดการทรัพยากรเกษตร ongart04@yahoo.com โทร. (081) 909-8117

เมล็ดทานตะวันงอก คุณค่าอาหารสูง
ใน บรรดาของงอกๆ ทั้งหลาย ที่เพาะขึ้นมาจากเมล็ดถั่วที่เราคุ้นเคยกัน คือ ถั่วงอก แต่ถั่วงอกก็ไม่น่าใช่ผักของคนไทย น่าจะเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของจีน เดี๋ยวนี้ถั่วงอกขึ้นโต๊ะเป็นเมนูอาหารไทยไปแล้ว ผัดไทยเอย ก๋วยเตี๋ยวเอย ถั่วงอกผัดเต้าหู้เอย พอมาตอนหลังเมล็ดธัญพืชงอกก็ปรากฏกันหลากหลาย เช่น ถั่วงอกหัวโต ซึ่งเพาะจากเมล็ดถั่วเหลือง ถั่วงอกจากถั่วลิสง โต้วเหมี่ยว ซึ่งเพาะจากเมล็ดถั่วลันเตา และข้าวกล้องงอก ซึ่งยังฮิตติดลมบนอยู่ในขณะนี้ ผักประเภทนี้กรรมวิธีค่อนข้างสะอาด เพราะแทบจะไม่ได้สัมผัสดินเลย ส่วนใหญ่จะเพาะในตะกร้า ทำอยู่ในโรงเรือน ถือเป็นผักอนามัยได้ทุกชนิด ยกเว้นแต่ถั่วเขียวงอก ซึ่งกรรมวิธีสะอาด แต่ก่อนนำมาขาย เขาจะทำด้วยกรรมวิธีอะไรก็ไม่รู้ ถั่วงอกจึงขาวสะอาดและคงทนได้นานหลายวัน อันนี้ไม่ขอรับประกันว่าเป็นผักอนามัย

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของถั่วงอก พบว่า ร้อยละ 90 ของถั่วงอก คือ น้ำ ให้โปรตีนแค่ 2.8 มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสเล็กน้อย เพราะฉะนั้นที่ว่าถั่วงอกมีคุณค่าทางอาหารมากนั้นไม่จริง คุณค่าที่กินถั่วงอก คือทำให้อิ่มเพื่อจะไม่ให้กินอาหารที่มีโปรตีนและไขมันจากสัตว์มากเกินไป การกินถั่วงอกมีเหตุผล 3 ประการ คือ ความกรุบกรอบของต้นเป็นอันดับแรก อันดับสอง ทำให้อิ่ม อันดับสาม คือให้ความสดชื่น เพราะมีน้ำอยู่ในต้นมาก การกินถั่วงอกคือการที่ผู้กินต้องการอาหารที่มีแคลอรีต่ำ ซึ่งเหมาะสำหรับคนลดความอ้วนนั่นเอง


อาหารฟื้นฟูสุขภาพ

ต้น อ่อนทานตะวัน (Sunflower Sprout) เป็นเมล็ดงอกตัวใหม่ที่ไม่ใช่ธัญพืช ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เมล็ดทานตะวันงอกมีโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลือง มีวิตามินเอ และวิตามินอีสูง บำรุงสายตา ผิวพรรณและชะลอความชรา มีวิตามิน บี 1 บี 6 โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 โอเมก้า 9 ซึ่งช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) และธาตุเหล็กสูง

นอกจากนี้ ในเมล็ดทานตะวัน 100 กรัม จะให้พลังงานแก่ร่างกาย 500 กิโลแคลอรี โปรตีน 23 กรัม ไขมัน 50 กรัม แคลเซียม 14.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 19 กรัม สังกะสี 5 มิลลิกรัม โพรแทสเซียม 690 มิลลิกรัม

ไขมันที่อยู่ในเมล็ดทานตะวัน จะเป็นไขมันที่ไม่อิ่มตัว ประกอบด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี วิตามินอี และไนอะซิน ต้นอ่อนทานตะวันหรือเมล็ดทานตะวันงอก ใช้เป็นอาหารสุขภาพ มีกลิ่นหอมคล้ายใบบัวบก รสหวานกรอบ รับประทานได้ทั้งสด เช่น จิ้มน้ำพริก เป็นผักสลัด หรือปรุงเป็นอาหาร เช่น ผัดน้ำมันหอย แกงจืด แกงส้ม ใส่ในก๋วยเตี๋ยวแทนถั่วงอก แล้วแต่คิดถึงเมนูไหน หรือนำมาปั่นเป็นน้ำผักดื่ม ก็จะได้น้ำผักสีเขียวเข้ม กลิ่นหอม แต่ควรดื่มก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ตอนท้องยังว่างอยู่ จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เพราะมีวิตามินและเอ็นไซม์สูง


ต้นทานตะวัน ปรับภูมิทัศน์

ต้น ทานตะวันเองเป็นดอกไม้ที่มีดอกสวยงาม ถ้าปลูกกันเป็นแปลงใหญ่ เพราะดอกจะบานรับแสงแดดทางทิศตะวันออกเสมอ ทุกดอกจะบานไปทางเดียวกัน เราจะเห็นถึงความพร้อมเพรียง ถ้าบ้านเราทุกคนพร้อมเพรียงหันหน้าไปทางเดียวกัน มุ่งมั่นจะให้ประเทศเราไปข้างหน้าเหมือนทานตะวันก็จะดีไม่น้อย ผมว่าการปรับฮวงจุ้ยหน้าทำเนียบฯ ไม่ต้องเอาสวนอะไรเข้าไปปรับหรอก ติดต่อคุณเทพเทือกเขายายเที่ยง พรรคพวกผม หาที่ว่างๆ ปลูกทานตะวันสักแปลง พอดอกบานหันไปทางเดียวกันก็เกณฑ์บรรดาท่าน ส.ส. และ ส.พ. ต่างๆ มายืนหันหน้าไปทางทิศเดียวกับทานตะวัน เพื่อเป็นอนุสติให้คิดถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน แล้วร้องเพลงสยามานุสติ ?อันสยามเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ดุจบิดามารดรเปรียบได้?? หรือร้องเพลง ?คนไทยหรือปล่าวววววววววว? ของ พี่แอ๊ด เผื่อจะซึมผ่านเข้าไปสู่หัวใจของ พณหัวเจ้าท่านเหล่านั้นได้ ติดต่อขอเมล็ดพันธุ์จาก บริษัท แปซิปิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด เขาคงไม่ใจจืดใจดำหรอก ใช้ไร่ละกิโลฯ เอง คูโบต้าเองก็พร้อมไถ พร้อมหว่าน ช่วยกันขนาดนี้แล้ว จะเอายังไงอีก

ต้นอ่อนทานตะวัน

ของฟาร์มคุณพ่อ หมอบุญญวัตน์


นาย สัตวแพทย์บุญญวัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผลิตมาจำหน่ายจำนวนไม่มาก แต่วัตถุประสงค์ของการผลิตเพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเพาะต้น อ่อนทานตะวันมากกว่า และเพื่อให้เพาะเมล็ดทานตะวันรับประทานกันเองในครอบครัว ซึ่งได้ทั้งงานอดิเรกและเพื่อสุขภาพ

วิธีการเพาะ ทำอย่างไร

นาย สัตวแพทย์บุญญวัตน์ ได้มีการทดลองใช้วัสดุในการเพาะหลายอย่าง เช่น ทราย ขุยมะพร้าว แกลบดำ จนกระทั่งถึงใยสังเคราะห์ แต่มาจบลงได้ที่ถุงเพาะเห็ดเก่าที่เขาทิ้งแล้ว รับซื้อในราคาถุงละ 25 สตางค์ เพราะเป็นวัสดุปลูกที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น แถมเปอร์เซ็นต์การงอกดีอีกด้วย และความสมบูรณ์ของต้นก็ดีกว่าวัสดุตัวอื่น เมื่อได้ถุงเห็ดมาแล้วก็นำมาแกะพลาสติคออก นำมาบี้ให้แตกออก แล้วใช้ตะกร้าพลาสติคร่อนเอาเฉพาะส่วนที่ละเอียด นำกระดาษหนังสือพิมพ์ปูในตะกร้าพลาสติคขนาดกลางรองให้เต็มตะกร้า นำวัสดุปลูกเห็ดที่ร่อนดีแล้วมาใส่ สูงประมาณครึ่งตะกร้า ปรับวัสดุปลูกในตะกร้าให้เสมอ นำตะกร้าพลาสติคขนาดเท่ากันมาอีกใบ ซ้อนไว้บนตะกร้าที่ใส่วัสดุปลูก โรยเมล็ดทานตะวันลงไปในตะกร้าบนแล้วเกลี่ยเมล็ดให้ทั่ว จึงยกตะกร้าออก ซึ่งจะมีเมล็ดทานตะวันค้างบ้างบางส่วน จะใช้วิธีแคะตะกร้าเบาๆ เมล็ดทานตะวันก็จะร่วงลงไป วิธีนี้เมล็ดทานตะวันจะกระจายทั่วหน้าตะกร้ากว่าการที่เราจะโรยลงไปที่วัสดุ ปลูกโดยตรง ขั้นตอนต่อไปก็จะโรยวัสดุปลูกปิดหน้าเมล็ด ก็จะนำวัสดุปลูกมาโรยบางๆ ผ่านตะกร้าเดิมเกลี่ยให้กระจายและเคาะลงไป พอกลบเมล็ดทานตะวันไว้อย่าให้หนามาก แล้วรดน้ำด้วยฝักบัวรดน้ำฝอยให้ชุ่ม นำมาวางไว้ในที่ร่ม รดน้ำ วันละ 3 ครั้ง เหมือนกินยา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 4-5 วัน แล้วค่อยนำมาออกแดดซึ่งผ่านซาแรน ใช้เวลา 1-2 วัน ช่วงนี้จะใช้ปุ๋ยนมสดรด 1 ครั้ง จะได้ต้นที่เขียว ใบอวบ และใบที่แตกออกมาจะดีดเปลือกของเมล็ดออกมาเอง ถ้าเพาะแล้วนำมาออกแดดเลยต้นจะสั้นไม่สวยงาม


การเก็บเกี่ยว

เมื่อ ครบอายุ 5-6 วัน ต้นทานตะวันงอกก็สมบูรณ์พร้อมจะเก็บเกี่ยว โดยจะใช้มือรวบต้นมาจำนวนหนึ่งแล้วใช้กรรไกรตัดรากออก นำไปแช่ในกะละมังที่ใส่น้ำไว้แล้ว นำมาผึ่งไว้ในตะกร้า แล้วจึงนำมาบรรจุใส่ถุงนำเข้าไปไว้ในตู้เย็น จะสามารถเก็บความกรอบของต้นทานตะวันงอกได้นานถึง 1 สัปดาห์ ส่วนวัสดุปลูก จะนำไปกองไว้ หรือใส่ในวงท่อเพื่อไม่ให้กระจัดกระจายดูไม่สะอาดตา ผสมกับมูลสัตว์อะไรก็ได้ที่สามารถหาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่น แล้วนำปุ๋ยนมสดรด สัปดาห์ละครั้ง จะกลับกองปุ๋ยหรือไม่ก็ได้ ประมาณ 1 เดือน เราก็จะได้ปุ๋ยหมักสำหรับใช้ในสวนได้อีก เท่าที่สังเกตวิธีคิดของนายสัตวแพทย์บุญญวัฒน์ สังเกตว่า ท่านจะคิดอะไร ก็จะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาก โดยมักจะนำสิ่งที่เหลือใช้มาเป็นประโยชน์ได้อีกดังเช่นวิธีนี้ คือ เมื่อได้ประโยชน์จากเห็ดแล้ว ก็จะนำก้อนเชื้อเห็ดที่ดูแล้วไม่มีประโยชน์มาเพาะเมล็ดทานตะวัน พอเพาะเสร็จสรรพ ตัดต้นทานตะวันงอกออก ก็นำก้อนเชื้อเห็ดที่ใช้นั้นมาหมักเป็นปุ๋ยหมักได้อีก โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากวัสดุนี้จนถึงที่สุดแล้ว ไม่เหลือเป็นมลพิษอีกต่อไป


เมล็ดพันธุ์ต้นทานตะวันที่ใช้เพาะ

ใน ปัจจุบัน เมล็ดพันธุ์พืชผักที่เกษตรกรใช้อยู่ ร้อยละ 90 จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์ขึ้นจากบริษัทจัดทำขึ้น ซึ่งแน่นอนเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นไม่สามารถสืบต่อลูกหลานไปได้อีก เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตจากเทคโนโลยีชั้นสูง เมื่อเกษตรกรไม่สามารถคัดพันธุ์ได้จากแปลงปลูกของตนเอง ซึ่งสมัยก่อนจะมีการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพื่อปลูกในฤดูถัดไป จึงทำให้เกษตรกรต้องพึ่งผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ล้วนแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งบางบริษัทก็เป็นบริษัทข้ามชาติ การที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูกพืช ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาผู้อื่น ลดการพึ่งพาตัวเองไป เมล็ดพืชพรรณที่เคยเห็น เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เคยแขวนอยู่ในกระบุง กระจาด เอาไว้ทำพันธุ์ เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมี แต่กลับไปแขวนอยู่ตามหน้าร้านค้าในตลาดแทน เมล็ดพันธุ์ทานตะวันที่ใช้ทำเมล็ดทานตะวันงอกในปัจจุบันก็เช่นกัน ไม่สามารถนำเอาเมล็ดพันธุ์ที่นิยมปลูกกันแถวสระบุรี ลพบุรี ซึ่งเป็นพืชน้ำมันนั้นมาเพาะได้ เนื่องจากเป็นคนละชนิดกัน แต่ถ้าย้อนยุคไปหลายสิบปีก่อน เราจะมีทานตะวันพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งรังเกียจกันหนักหนาว่าดอกเล็ก ไม่ค่อยมีเมล็ดนั้นยังอยู่ เราก็ไม่ต้องเสียดุลการค้าให้กับประเทศจีนด้วยการซื้อเมล็ดทานตะวันจากเมือง จีนมาเพาะให้กินกันหรอก ปัจจุบันเสาะหากันยากพอสมควรสำหรับทานตะวันพื้นเมือง ส่วนของเมืองจีนที่เพาะให้รับประทานกันทุกวันนี้ คนขายบอกว่าเป็นพันธุ์ที่ปรับปรุงไว้สำหรับทำเมล็ดทานตะวันงอกโดยเฉพาะ และเก็บไว้ได้นานด้วย แต่พันธุ์พื้นเมืองเราเก็บไว้ได้ไม่นานนัก เปอร์เซ็นต์งอกค่อนข้างต่ำ จำเป็นต้องเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำ


ขอบคุณที่มาข้อมูล
มติชน วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 23 ฉบับที่ 489

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น