วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทำความรู้จัก ว่านหางจระเข้ สมุนไพรตัวเก่ง

ว่านหางจระเข้ 

 

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aloe vera (Linn.) Burm. f.
ชื่อพ้อง
Aloe barbardensis Mill. , A. indica Royle
ชื่อวงศ์
Aloaceae
ชื่ออังกฤษ
Aloe, Barbados aloe, Crocodile’ tongue, Indian aloe, Jafferbad, Mediteranean aloe, Star cactus, True aloe
ชื่อท้องถิ่น
ว่านไฟไหม้, หางตะเข้

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์
1.  ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
                ได้มีการศึกษาฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารในหนูขาวของว่านหางจระเข้ (1-7)  Parmar และคณะ (6) ได้ศึกษาผลของเจลและยางโดยเหนี่ยวนำหนูให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การใช้ acetylsalicylic acid, phenylbutazone, reserpine ความเย็น และใช้ cysteamine hydrochloride ทำให้เกิดแผลในลำไส้ พบว่าไม่ได้ผลในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร   Koo 1994 (3) รายงานว่าวุ้นว่านหางจระเข้ไม่สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากอัลกอฮอล์และความเย็นแต่ช่วยให้หายเร็วขึ้น ซึ่ง Kandil and Gobran (2) ก็พบผลเช่นกันเดียวกัน เมื่อให้วุ้นว่านหางจระเข้หลังเกิดแผล 7 วัน   การทดลองต่อมาพบว่าเมื่อให้หนูกินวุ้นว่านหางจระเข้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 มก./.. ตัว 100 กรัม  เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ cortisol  และ กลุ่มที่ได้ cortisol ร่วมกับว่านหางจระเข้ พบว่ากลุ่มที่ได้รับวุ้นว่านหางจระเข้จะไม่มีแผล ในขณะที่กลุ่มที่ได้ cortisol มีแผลขั้นรุนแรง และกลุ่มที่ได้ cortisol ร่วมกับว่านหางจระเข้ มีแผลบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่ากลุ่มที่ได้รับ cortisol เพียงอย่างเดียว และพบว่ากลุ่มที่ได้รับว่านหางจระเข้เยื่อเมือกมีความหนาเพิ่มขึ้นในส่วนต้นของกระเพาะอาหาร แสดงว่าวุ้นว่านหางจระเข้จะช่วยลดการเกิดแผล โดยกระตุ้นการสร้างเมือก (7) การทดลองของสิริพันธุ์ (4) พบว่าในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลโดย cortisol และให้วุ้นว่านหางจระเข้ สารสกัดว่านหางจระเข้ทั้งใบ เปรียบเทียบกับไซเมติดีน (cimetidine) พบว่าวุ้นว่านหางจระเข้ช่วยลดการเกิดแผลได้อย่างมีนัยสำคัญ  ในขณะที่สารสกัดทั้งใบและไซเมติดีนมีผลเล็กน้อย  ศิริมา (5) ได้ทดลองในหนูขาวที่ทำให้เกิดแผลด้วย 0.6 N HCl และ กรดอะซิตริก  เมื่อให้วุ้นว่านหางจระเข้สด หรือวุ้นสดที่ทำให้แห้งโดยวิธีแช่แข็ง ทั้งที่เตรียมใหม่ และที่เก็บไว้ในตู้เย็นก่อนนำมาใช้เป็นเวลา 2 เดือน ในขนาด 400 มก./กก./วัน  พบว่าวุ้นว่านหางจระเข้ทั้ง 3 รูปแบบ สามารถป้องกันการเกิดแผลได้ และให้ผลใกล้เคียงกับยาซูครัลเฟต แสดงว่าวุ้นว่านหางจระเข้ป้องกันการเกิดแผลและทำให้แผลหายเร็ว จากการศึกษาต่อมาพบว่า สารออกฤทธิ์คือ Aloctin A (8), Aloctin B (9) และ polysaccharide (10)
                นอกจากการศึกษาในวุ้นแล้วยังมีการศึกษาในสารสกัด (11-15)  พบว่าได้ผลในการป้องกันการเกิดแผล และรักษาแผล และพบว่าสารออกฤทธิ์เป็นสารที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง > 5,000 และ > 50,000 ซึ่งสามารถยับยั้งการเกิดแผลเนื่องจากความเครียด กรดอะซิตริก และการผูกกระเพาะอาหารส่วนปลาย (ligation of pylorus) โดยสารที่มีน้ำหนักโมเลกุล > 5,000 ให้ผลดีกว่า (13) ต่อมามีการศึกษาพบว่าการรักษาแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดว่านหางจระเข้ไม่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ prostaglandin (14)
                การศึกษายังพบว่าสารสกัดว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (16) แต่มีผู้พบว่าสารสกัดว่านหางจระเข้มีผลรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และพบว่า magnesium lactate และ aloenin ลดการหลั่งน้ำย่อย (11) การศึกษาต่อมาพบว่า Aloctin A นอกจากรักษาแผลในกระเพาะอาหารแล้วยังลดกรดและเปบซิน จึงลดการเกิดแผลเนื่องจากแอสไพริน และอินโดเมธาซิน (indomethacin) (17) ซึ่งต่อมามีการศึกษาเพิ่มเติมและพบว่าให้ผลช่วยลดการหลั่งกรดและน้ำย่อย (15, 18)  แต่รายงานบางฉบับพบว่า เจลว่านหางจระเข้ เพิ่มระยะเวลาที่ histamine กระตุ้นการหลั่งกรดแต่ลดการหลั่งน้ำย่อยเปบซิน  (19)  และสารออกฤทธิ์คือ Aloctin A (17)
                นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่า หากป้อนเจลว่านหางจระเข้ และเจลว่านหางจระเข้ของบริษัท Pulmuone ขนาด 5 มล./กก./วัน และ 10 ก./กก.วัน นาน 12 วัน ตามลำดับ ให้หนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยกรดอะซิตริก พบว่าสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ และเจลว่านหางจระเข้ของบริษัท Pulmuone ขนาด 20 ก./กก. สามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารแบบเฉียบพลันได้ และในขนาด 10 ก./กก. สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารแบบเรื้อรังได้ (20)
                สำหรับการทดลองในคนนั้นได้มีการทดลองในยูเครน โดยนำน้ำวุ้นว่านหางจระเข้มาเตรียมเป็น emulsion ให้รับประทานครั้งละ 2-2.5 fluid drams มาทดลองในผู้ป่วย 12 ราย พบว่าหายทุกราย และนักวิจัยจากยูเครนเชื่อว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ traumatic acid ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะพบในพืชที่มีการทำลายเนื้อเยื่อ โดยจะปนอยู่กับพวกมิวซิเลจต่างๆ และกระบวนการออกฤทธิ์จะมาจาก
1.  ไปจับตัวกับ pepsin ทำให้ย่อยโปรตีนไม่ได้ แต่จะปล่อยออกมาเมื่อได้รับอาหาร ดังนั้นจึงลดการเกิดแผลในขณะท้องว่าง
2.    ยับยั้งการหลั่งกรด
                3.    เจลมี manuronic และ glucuronic acid เป็นส่วนประกอบจึงช่วยป้องกันการเกิดแผล (21)
                นอกจากนี้ยังมีการจดสิทธิบัตรว่าตำรับยาที่มีผงว่านหางจระเข้ 1-50 ส่วน เป็นส่วน ประกอบหนึ่ง มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร  เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร  แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer)  กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การหลั่งกรดไฮโดรคลอริกในกระเพาะอาหารมากเกินไป  ปวดแสบปวดร้อนในกระเพาะอาหาร  กระเพาะอาหารมีการหดเกร็ง  และการย่อยอาหารไม่ดี  (22)  และมีการนำสารโพลีแซคคาไรด์ในว่านหางจระเข้ มาทำเป็นยาในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง  และแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นเรื้อรัง (chronic duodenal ulcer) (23)

2.  ฤทธิ์ในการสมานแผล

                การใช้ว่านหางจระเข้สมานแผลมีมาแต่โบราณ มีการศึกษาในสัตว์ทดลองต่างๆ เมื่อทาขี้ผึ้งซึ่งมีสารสกัดว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบ บนหลังหนูถีบจักรที่ทำให้เกิดแผล (24) Davis และคณะ (25) ได้ทำการศึกษาผลของว่านหางจระเข้หลายการทดลอง พบว่าเมื่อนำสารสกัดซึ่งเอา anthraquinone ออกแล้วไปฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร และหนูขาว ในขนาด 10 มก./กก. พบว่าแผลหายเร็วกว่ากลุ่มควบคุม การศึกษาพบว่าฤทธิ์การสมานแผลของวุ้นว่านหางจระเข้ใช้ได้ผล ทั้งการให้สัตว์ซึ่งทำให้เกิดแผลกินในขนาด 100 มก./กก./วัน หรือผสมกับ Eucerin cream 25% ทา (26) ตะกอนที่ได้จากการตกตะกอนสารสกัดเอทานอล (50%) ทำให้แผลมีขนาดเล็กลง 47.1% แต่ส่วนใสไม่มีผล (27) mannose-6-phosphate ซึ่งได้จากว่านหางจระเข้ในขนาด 300 มก./กก. ทำให้แผลหายเร็วขึ้น (28) เมื่อให้ว่านหางจระเข้ 100 และ 300 มก./กก. แก่หนูถีบจักร จะช่วยยับยั้ง hydrocortisone acetate ที่ทำให้แผลหายช้า แผลจึงหายเร็วขึ้น (29) และเขาได้จดสิทธิบัตรการใช้ว่านหางจระเข้ในการรักษาแผลเปิด (30) Udupa และคณะ (31) พบผลเช่นเดียวกัน เมื่อฉีดวุ้นว่านหางจระเข้เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ในขนาด 2 ซีซี/กก. อย่างไรก็ตามมีผู้รายงานว่าไม่ได้ผล (32)
                มีผู้จดสิทธิบัตรของขี้ผึ้งที่มีโพลีแซคคาไรด์เป็นส่วนประกอบในเรื่องการรักษาแผลในหนูขาว (33) การทดลองในหนูขาว โดยทำให้เกิดแผลที่หลังแล้วทาด้วย 2% mupirocin ointment, 1% clindamycin cream, 1% silver sulfadiazine cream, วุ้นว่านหางจระเข้ และ 1 % silver sulfadiazine ร่วมกับวุ้นว่านหางจระเข้ พบว่ากลุ่มที่ได้รับว่านหางจระเข้แผลหายเร็วที่สุด และยังช่วยเร่งให้แผลหายเร็วขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับ silver sulfadiazine ซึ่งทำให้แผลหายช้า (34) Muller และคณะ (35) พบผลเช่นเดียวกัน และกระบวนการที่ทำให้แผลหายเร็วขึ้นเกิดจากกระบวนการ contraction ของแผล (36) และยังมีผู้ศึกษาพบว่าการที่ว่านหางจระเข้ทำให้แผลในหนูขาวหายเร็วขึ้นเนื่องมาจากไปเสริมฤทธิ์ NO หรือจับอนุมูลอิสระจึงทำให้เนื้อบริเวณนั้นไม่ตาย และไปยับยั้ง Thromboxane synthetase แผลจึงหายเร็วขึ้น (37) และยังพบว่าวุ้นว่านหางจระเข้เมื่อใช้ภายนอกหรือให้หนูขาวกิน จะเร่งให้แผลหายเร็วขึ้น โดยการไปเร่งการสร้าง collagen (38, 39) และผู้วิจัยกลุ่มเดียวกันยังได้ทดลองให้หนูขาวซึ่งเป็นเบาหวานกิน พบว่าแผลหายเร็วขึ้น (40) ซึ่งตรงกับที่ Davis และคณะ (41) ได้รายงานว่าเมื่อใช้ว่านหางจระเข้ซึ่งกำจัด anthraquinone ออกทำให้แผลหายเร็วขึ้น ทั้งในหนูปกติและหนูเบาหวาน และยังพบว่าวุ้นว่านหางจระเข้ยังช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และทำให้หลอดเลือดบริเวณแผลที่ขยายกลับเป็นปกติ (42) 
                นอกจากการศึกษาในหนูถีบจักรและหนูขาวแล้ว ยังมีการศึกษาในสัตว์ชนิดอื่น ได้แก่ แมว ม้า (43)  สุนัข (43, 44)  มีผู้ผสมว่านหางจระเข้กับ Na2S2,O3, CMC, PVP 400, EDTA 40 และ buffer และนำไปใช้รักษาแผลในปลา พบว่าได้ผลดี (45)  การศึกษาในหมู พบว่าแผลจะตกสะเก็ดเร็วขึ้น เมื่อใช้วุ้นว่านหางจระเข้ (46)  การศึกษาโดยทำให้หูกระต่ายเป็นแผลด้วยความเย็น พบว่าการใช้ว่านหางจระเข้ร่วมกับ pentoxifylline ทำให้เนื้อเยื่อไม่ตายดีกว่า เมื่อใช้ pentoxifylline หรือว่านหางจระเข้อย่างเดียว (47)
                ไม่เพียงแต่มีผลการทดลองในสัตว์ทดลอง ยังมีรายงานผลทางคลินิก การนำขี้ผึ้งซึ่งมีว่านหางจระเข้ 50% ไปใช้รักษาแผลถลอก พบว่าอัตราการหายของแผลดี (48) มีผู้ทดลองเปรียบเทียบผลของวุ้นว่านหางจระเข้และ polyethyline oxide พบว่าได้ผลดีกว่าในการรักษาแผลถลอก (49) และรักษาแผลที่ไม่ติดเชื้อได้ผล (50) มีผู้นำไปใช้ในแผลเรื้อรัง สิว และพบว่าลดการหลุดร่วงของผมด้วย (51) มีการนำมาใช้รักษาแผลภายนอกได้ผลโดยใช้ร่วมกับ Vitamin E (52) ซึ่งมีรายงานผลดีของว่านหางจระเข้ต่อมาอีกหลายฉบับ (53-55) การที่แผลหายเร็วขึ้นก็เนื่องจากการที่ผิวหนังเร่งแบ่งตัวเพื่อซ่อมแซมผิว (56, 57)  Thompson (58) ได้นำไปใช้ในผู้ป่วยผ่าตัดจมูก พบว่าทำให้แผลหายเร็วขึ้น และมีการนำไปใช้รักษาแผลที่เกิดจากการรักษาสิวด้วยวิธีดูดหัวสิว (59) สารสกัดด้วยน้ำเมื่อนำไปใช้หลังการผ่าตัดฟัน พบว่าช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น (60) การทดลองในผู้ป่วย 31 คนซึ่งเป็นแผลในปาก พบว่าผู้ป่วย 77% ปวดน้อยลง ผู้ป่วย 80% แผลดีขึ้น (61) และการนำว่านหางจระเข้ไปรักษาแผลที่เกิดจาการถอนฟัน พบว่าทำให้เกิด alveolar asteitis ซึ่งทำให้แผลหายช้าน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือ (62)
                มีการนำวุ้นว่านหางจระเข้มารักษาแผล โดยศึกษาในผู้ป่วย 60 คน ที่มีบาดแผลจากอุบัติเหตุ  และเปรียบเทียบกับการรักษาแผลด้วยน้ำยาโพวิโดน ไอโอดีน  พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่แผลหายสมบูรณ์ของกลุ่มที่ได้รับวุ้นว่านหางจระเข้มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำยาโพวิโดน ไอโอดีนอย่างมีนัยสำคัญ  และค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์การหายของแผลภายหลังทำแผลได้ 7 วัน ของกลุ่มที่ได้รับวุ้นว่านหางจระเข้มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำยาโพวิโดน ไอโอดีน  แต่หลังจากการทำแผลได้ 14 และ 21 วัน ไม่พบความแตกต่างของการหายของแผลของทั้ง 2 กลุ่ม  (63)
                นอกจากนี้ยังมีการนำวุ้นว่านหางจระเข้สด(เตรียมและใช้ภายใน 6 ชม.) มาทดสอบในผู้ป่วยจิตเวช 4 คน  ซึ่ง 3 คน เป็นแผลกดทับ (ขนาด 300 ตารางเซนติเมตร ลึกถึงกระดูก  และ ขนาด 2.5 ตารางเซนติเมตร ลึก 3 ซม.)  อีก 1 คนเป็นแผลไฟไหม้ขั้นที่ 2-3 โดยมีแผลไฟไม้ 25% ของพื้นที่ร่างกาย  โดยผู้ป่วยที่มีแผลกดทับขนาดใหญ่และลึกถึงกระดูกนั้น มีการล้างแผล เลาะเนื้อตายออก และทาวุ้นว่านหางจระเข้สด วันละ 2 ครั้ง  เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีแผลกดทับขนาดเล็ก และแผลไฟไหม้ พบว่าผู้ป่วยที่มีแผลกดทับขนาดใหญ่ แผลมีขนาดเล็กลง ภายใน 54 วัน  และผู้ป่วยที่มีแผลกดทับขนาดเล็ก แผลหายภายใน 30 วัน  ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้นั้น แผลหายดี แต่มีแผลเป็นเล็กน้อย ภายใน 10 สัปดาห์ (64)
อย่างไรก็ตามการนำว่านหางจระเข้มาใช้รักษาแผล มีผู้รายงานว่าไม่ได้ผล การทดลองในหญิง 21 คน ซึ่งมีแผล พบว่าแผลหายช้ากว่า standard treatment (65) การนำว่านหางจระเข้ผสม silicon dioxide และ allantoin ไปรักษาแผลในปากพบว่าไม่ได้ผล (66) การนำ acemannan จากว่านหางจระเข้ไปใช้รักษาแผลกดทับในผู้ป่วย 30 ราย พบว่าได้ผลพอๆ กับน้ำเกลือ (67) 
                การศึกษาผลของว่านหางจระเข้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพบว่าเร่งการแบ่งตัว (68) Lectin จากว่านหางจระเข้ทำให้เซลล์ประสานกันได้ดี (69) ได้มีการนำเอาวุ้นสด และผลิตภัณฑ์วุ้นที่ทำขายมาทดสอบในการเพาะเลี้ยงเซลล์ผิวหนัง และ fibroblast ของผิวหนัง พบว่าวุ้นสดให้ผลดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ขายในท้องตลาด โดยเร่งการเจริญของเซลล์ทั้ง 2 ชนิด (70)  glycoprotein จากว่านหางจระเข้เร่งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง และไต (71) และ glycoprotein ยังเร่งการแบ่งตัวของเซลล์ตับ โดยเร่งการนำเอา [3 H] thymidine ไปใช้สังเคราะห์ DNA (72, 73) และมีรายงานผลของ aloesin เช่นเดียวกัน (74) การเร่งการแบ่งตัวของเซลล์ จึงทำให้แผลหายเร็วขึ้น
                การศึกษากระบวนการออกฤทธิ์ในการรักษาแผลของว่านหางจระเข้ พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ได้แก่ กระบวนการลดการอักเสบเนื่องจาก bradykininase ในว่านหางจระเข้ไปทำลาย bradykinin สารซึ่งทำให้หลอดเลือดขยายตัวและเกิดการอักเสบ ปวด และ bradykininase ยังไปเปลี่ยน angiotensin I ไปเป็น angiotensin II ซึ่งทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้การอักเสบลดลง กระบวนการที่ 2 คือ magnesium lactate ที่มีในว่านหางจระเข้ จะยับยั้ง histidine dicarboxylase ไม่ให้เปลี่ยน histidine ไปเป็น histamine ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ กระบวนการที่ 3 คือ การที่ alloctin A ไปเพิ่มการทำงานของ adenylate cyclase ใน T-lymphocyte ทำให้ ATP เปลี่ยนเป็น cyclic AMP ซึ่งเร่งการแบ่งตัวของเซลล์ที่ได้รับอันตราย ซึ่งก็มีผู้พบว่า alloctin A ช่วยในการแบ่งตัวของเซลล์ ดังนั้นจึงช่วยสมานแผล Alloctin A ยังช่วยลดการอักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ยังอาจเป็นไปได้ว่า วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยสมานแผลโดยการสร้างโปรตีนจากกรดอะมิโนที่ได้จาก bradykinin ที่ถูกย่อย และ aloctin A อาจจะช่วยเพิ่มการกำจัดเนื้อเยื้อที่ตาย โดยกระบวนการกระตุ้นการแบ่งตัวของ leukocytes, macrophages และ monocytes ซึ่งจะช่วยกำจัดเซลล์ที่ตาย และในขณะเดียวกันก็เร่งการแบ่งตัวของเซลล์ที่ยังมีชีวิตบริเวณแผลเพื่อมาซ่อมแซมส่วนที่เสียไป (75)
                การศึกษาพบว่าว่านหางจระเข้ยับยั้งการทำลายเนื้อเยื่อเนื่องจากการบาดเจ็บต่างๆ โดยยับยั้ง Thromboxane A2  และรักษาระบบเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณแผลและหลอดเลือด จึงทำให้แผลหายเร็วขึ้น (76) ว่านหางจระเข้กระตุ้นการสร้าง glycoaminoglycan ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาปิดแผลในขั้นตอนแรกของการสมานแผล หลังจากนั้นจึงจะสร้างเนื้อเยื่อ granulation, collagen และ elastin ว่านหางจระเข้ยังไปกระตุ้นการสร้าง hyaluronic acid และ dermatan sulfate และพบว่าปริมาณ glucohydrolase เพิ่มขึ้น แสดงว่าอัตราการผลัดเนื้อเยื่อ matrix เพิ่มขึ้น จึงช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น (77) การศึกษาผลต่อ collagenase และ metalloproteinase พบว่าส่วนวุ้นยับยั้งการทำงานของ metalloproteinase ซึ่งไปทำลายเนื้อเยื่อ จึงลดการทำลายเนื้อเยื่อ แต่ aloin นอกจากยับยั้ง metalloproteinase แล้วยังยับยั้ง collagenase ซึ่งขับออกมาจากเชื้อ Clostridium histolyticum ซึ่งเชื้อนี้จะพบในแผลติดเชื้อ  ดังนั้นในกรณีแผลติดเชื้อดังกล่าววุ้นว่านหางจระเข้มีผลยับยั้งการทำลายของ enzyme จากเชื้อ (78)
                นอกจาก aloctin A ยังมีสารพวก polysaccharide ได้แก่ acemannan ซึ่งเมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น (79) และมีผู้จดสิทธิบัตรผลของ polysaccharide (80, 81) และสารสกัดว่านหางจระเข้ (82, 83) ว่ามีฤทธิ์ในการสมานแผล  Pickart (84) ได้ทดลองเตรียมอนุพันธุ์กับโลหะได้สารซึ่งมีฤทธิ์สมานแผล และยังช่วยกระตุ้นการงอกของขนในหนูถีบจักร
                ด้วยฤทธิ์สมานแผล จึงมีผู้นำไปใช้รักษาแผลอักเสบต่างๆ ได้แก่ แผลที่เกิดจากการแพ้ sodium lauryl sulfate ในผงซักฟอก พบว่าได้ผลดี (85)  ใช้ผสมในน้ำยาทำความสะอาดผิวหนังโดยใช้สารสกัดว่านหางจระเข้ (86) ผสมน้ำยาล้างแผล (87) น้ำยารักษาแผลในปาก (88)
3.        สารสำคัญในการออกฤทธิ์สมานแผล
สารออกฤทธิ์สมานแผลคือ
Aloctin A (8) และ Aloctin B (9)

4.  ฤทธิ์รักษาแผลไหม้เนื่องจากรังสี

                การรักษาด้วยการใช้แสงทำให้เกิดการไหม้ หรืออาการผิวหนังอักเสบ มีผู้นำว่านหางจระเข้มาใช้รักษาอาการเหล่านั้น พบว่าอาการดีขึ้น (89, 90-104) โดยมีการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ (89, 90, 92, 93, 96, 97, 100, 101, 104, 105-108) และใช้ใบสดทั้งใบ (91,95) ใช้ขี้ผึ้ง (98) ทำเป็นอีมัลชั่น (99) แต่ใบสดให้ผลดีกว่าขี้ผึ้ง (95) การศึกษากระบวนการออกฤทธิ์พบว่าเกี่ยวข้องกับการจับอนุมูลอิสระที่เกิดขณะฉายแสง (102, 103) Wang และคณะ (109) ได้ศึกษาพบว่า polysaccharide จากวุ้นว่านหางจระเข้ สามารถป้องกันอันตรายแก่หนูที่รับรังสีโคบอลท์ ทำให้อัตราการตายลดลง เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดเพิ่มขึ้น โดยฉีด polysaccharide ในขนาด 25 และ 50 มก./กก. ทางช่องท้องก่อนรับการฉายแสง ผลการวิจัยที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงว่าครีมว่านหางจระเข้ทำให้แผลหายเร็วกว่ากลุ่มที่ได้รับครีมเบส (89) และยังพบว่าวุ้นว่านหางจระเข้สามารถรักษาอาการของ conjunctiva เนื่องจากถูกรังสี (106)
                การศึกษาบางอันไม่ได้ผล (107) มีการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมซึ่งรักษาด้วยการฉายรังสี 225 คน เมื่อเปรียบเทียบผล กลุ่มที่ใช้ aqueous cream และใช้วุ้นว่านหางจระเข้ 95% พบว่ากลุ่มที่ใช้วุ้นว่านหางจระเข้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีอาการคันและปวดแสบปวดร้อน (105)  ซึ่งตรงกับรายงานของ Williams และคณะ (108) ซึ่งได้ทดสอบในผู้ป่วยมะเร็ง 108 คน เมื่อได้รับวุ้นว่านหางจระเข้พบว่าไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการฉายรังสี
                นอกจากดูผลของการรักษาแผลที่เกิดจากรังสีแล้ว ได้มีผู้ศึกษาผลการป้องกันแสง UV มีผู้ทดลองในผู้ป่วย 12 ราย ว่าช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น (110) การศึกษาพบว่า oligosaccharide ซึ่งมีน้ำหนักโมเลกุล 1,000 - 5,000 daltons สามารถป้องกันการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง (111) Lee และคณะได้ศึกษาพบว่าสารซึ่งมีน้ำหนักโมเลกุลน้อยกว่า 1,000 daltons สามารถป้องกันแสง UVA ไม่ให้ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง (112) และพบว่าเมื่อนำสารนี้ในขนาด 0.1, 0.5 และ 2.5 มก./มล. พ่นหลังหนูถีบจักรทันทีหลังจากได้รับแสง พบว่าสามารถป้องกันรังสี UVB (113) แสง UV จะกระตุ้นการสร้าง matrix degrading metalloproteinase (MMPs) ซึ่งไปทำลาย connective tissue ทำให้ผิวหนังหยาบกร้านแก่ก่อนวัย และอาจเกิดมะเร็ง วุ้นว่านหางจระเข้สามารถยับยั้งการสร้าง MMPs และช่วยให้เซลล์รอดชีวิตจากการทำลายของ UVA (114) และมีการพัฒนาตำรับวุ้นว่านหางจระเข้ซึ่งใช้ป้องกันการไหม้เนื่องจากแดดได้ผลดี (115, 116)  และทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น (116)  มีการจดสิทธิบัตรว่าอีมัลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำว่านหางจระเข้ที่ไม่มี aloin (60-70%) base cream (30-40%) สามารถรักษาอาการผิวหนังอักเสบจากแสงแดดได้ (117)  แต่มีรายงานว่าการใช้ gel ว่านหางจระเข้ในการรักษาและป้องกันอาการแดงเนื่องจาก UVB ไม่ได้ผล (118, 119)

5.  ฤทธิ์รักษาแผลไหม้เนื่องจากความร้อน

                มีการศึกษาเรื่องการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ในการรักษาแผลไหม้เนื่องจากความร้อนในสัตว์ทดลองต่างๆ  Rodriguez-Bigas และคณะ (120) ได้ทดลองทำให้เกิดแผลไหม้ด้วยความร้อนในหนูตะเภา และใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทา พบว่าแผลหายเร็วขึ้น การติดเชื้อเนื่องจากแบคทีเรียลดลง เมื่องานของเขาตีพิมพ์ได้มีผู้เห็นด้วยหลายคน (121-123) อย่างไรก็ตาม Kaufman (123) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องการทดลองว่า การ biopsy แผลไปตรวจ จะมีผลกระทบต่อการรักษาแผลไหม้ ต่อมาได้มีการทดลองใช้ gel รักษาแผลไหม้เนื่องจากความร้อนและหิมะกัด พบว่าได้ผล และช่วยรักษาเนื้อเยื่อบริเวณแผลไม่ให้ตาย แผลจึงหายเร็วขึ้น (76) อย่างไรก็ตาม Kaufman และคณะ (124) รายงานว่าผลไม่ดีเท่าครีม silver sulfadiazine
                นอกจากหนูตะเภามีการทดลองในหนูขาวซึ่งได้ผลดีในการรักษา (125) การทดลองในหนูถีบจักร ซึ่งทำให้เป็นแผลไหม้ในความลึกต่างๆ กัน พบว่าได้ผลสำหรับแผลไหม้ระดับ 1 และระดับ 2 ส่วนระดับ 3 เกิดการติดเชื้อจึงทดลองไม่ได้ การศึกษายังชี้ให้เห็นว่าครีมได้ผลดีกว่าวุ้นสด (126) การทดลองในกระต่ายพบว่าครีมวุ้นว่านหางจระเข้ นอกจากจะทำให้แผลหายเร็วยังพบว่าทำให้เกิดแผลเป็นน้อย (127) Cera และคณะ (128) ได้ทดลองให้ครีม Dermide ซึ่งมีวุ้นว่านหางจระเข้ 80% ในสุนัข 2 ตัว ซึ่งเป็นแผลไหม้พบว่าใช้ได้
                มีผู้พบว่า polyuronide จาก aloe ใช้รักษาแผลไหม้ได้ (129) ต่อมาผู้ทดลองเดียวกันได้เตรียมอนุพันธุ์ methyl ของ polysaccharide เมื่อนำไปทดสอบพบว่ารักษาแผลไหม้ได้เป็นอย่างดี (130) 
                มีการศึกษาในผู้ป่วยหลายรายงาน การศึกษาในผู้ป่วย 38 ราย โดยใช้วุ้นสด เปรียบเทียบกับ silver sulfadiazine พบว่าใช้วุ้นสดได้ผล 95% ในขณะที่อีกกลุ่มได้ผล 83% มีอาการไม่พึงประสงค์บ้างเล็กน้อย คือรู้สึกระคายเคือง (131) มีการศึกษาผลของครีมว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยนอกที่เป็นแผลไหม้ระดับ 2 พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับ silver sulfadiazine พบว่ากลุ่มที่ได้รับว่านหางจระเข้หายเร็วกว่า silver sulfadiazine โดยหายในเวลา 13 ± 2.41 วัน และ 16.15 ± 1.98 วัน ตามลำดับ (132) รายงานผลการรักษาในคนไข้ 27 ราย เปรียบเทียบกับ vassaline พบว่าหายในเวลา 11.89 วัน และ 18.19 วันตามลำดับ (133) แม้ว่าก่อนหน้าจะมีผู้เชื่อว่าแผลที่หายเนื่องจากน้ำมันในครีมทำให้แผลไม่แห้งจึงหายเร็วก็ตาม (134)  แต่ผลการทดลองข้างต้นก็น่าจะยืนยันประสิทธิภาพของครีมวุ้นว่านหางจระเข้ นอกจากวุ้นว่านหางจระเข้ มีผู้ทำขี้ผึ้งว่านหางจระเข้ใช้รักษาแผลไหม้เนื่องจากน้ำร้อนลวก (135, 136)
                แผลไหม้อื่น
                การใช้ว่านหางจระเข้รักษาแผลไหม้เนื่องจากกรด hydrofluric ไม่ได้ผล (137) แต่สามารถลดการระคายเคืองเนื่องจาก chlorine dioxide (138)
6.  สารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ
   6.1  สารซึ่งออกฤทธิ์คือ Aloctin A (138-143) โดย Aloctin A ไปยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandin E2 จาก arachidonic acid (143)  สาร veracylglucan B และ C (144)
   6.2  มี bradykininase ซึ่งเป็น enzyme พวก carboxypeptidase ซึ่งจะไปทำลาย bradykinin ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ (145, 146)
7.  ฤทธิ์ลดการอักเสบ
                มีการศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของใบว่านหางจระเข้ โดยใช้ส่วนต่างๆ ได้แก่ สารสกัด (25, 27, 41,147-157)  สารสกัดจะประกอบด้วยทั้งวุ้นและยางสีเหลือง มีฤทธิ์ลดการอักเสบในการทดสอบในหูหนู (149)  อุ้งเท้าหนูโดยเหนี่ยวนำในเกิดการอักเสบด้วย kaolin, carrageenan, albumin, dextran, gelatin, mustard และน้ำมันละหุ่ง (149, 151)  ได้ทดลองฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูเบาหวานซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยเจลาติน  พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบและมีฤทธิ์เหมือน gibberellin ผู้วิจัยจึงเสนอแนะว่าสารออกฤทธิ์อาจเป็น gibberellin หรือสารที่มีคุณสมบัติเหมือน gibberellin (151) การศึกษาต่อมาพบว่าเมื่อใช้ร่วมกับสาร hydrocortisone-21-acetate ยิ่งเสริมฤทธิ์ลดการอักเสบของ hydrocortosone-21-acetate (152)  ผู้วิจัยกลุ่มเดียวกันได้ทำสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยอัลกอฮอล์ 50%  มาแยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ตกตะกอน และส่วนที่เป็นน้ำใส  พบว่าทั้ง 2 ส่วนยับยั้งการอักเสบ แต่ส่วนน้ำใสจะมีฤทธิ์ดีกว่าส่วนที่เป็นตะกอน (153, 154)  การศึกษาต่อมาพบว่าสารสกัดที่กำจัด anthraquinone ออกมีฤทธิ์ลดการอักเสบดีกว่าสารสกัดที่มี anthraquinone ผสมอยู่ (150)
                การทดลองฤทธิ์ลดการอักเสบโดยใช้การทดสอบซึ่งทำให้เกิดถุงอากาศ (air sac) และฉีด carrageenan ให้เกิดการอักเสบ พบว่าเมื่อทา Aloe vera (10%) ทำให้เกิด fibroblasts เพื่อซ่อมแซมส่วนที่เกิดเป็นถุงอากาศ (154)  Shinpo และคณะ (156) ได้ทดลองใช้ขี้ผึ้งซึ่งมีว่านหางจระเข้ hydrocortisone acetate และ diphenhydramine พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ และได้ทดลองสารสกัด ethyl acetate ในการยับยั้งการอักเสบ พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ  การศึกษาทางเคมีทางพบว่าสารสกัดที่ให้ผลนี้มี aloenin,  barbaloin และ isobarbaloin (157)  ซึ่งได้มีผู้ศึกษามาก่อนว่า anthraquinone มีฤทธิ์ลดการอักเสบ (158)  นอกจาก anthraquinone มีผู้สกัดแยกสารออกฤทธิ์อื่นอีกได้แก่ aloesin (2,6), 8-[C-b-D-[2-O-(E)-cinnamoyl] glucopyranoysl]-2-[(R)-2-hydroxyprohyl]-7-methoxy-5-methylchromone) (159), sterol (29) และ aloenin (160,161)  อย่างไรก็ตามสารสกัดที่ไม่ได้แยก anthraquinone ออกอาจทำให้เกิดการระคายเคือง โดยมีผู้รายงานว่า aloin และ 1,8-dioxyanthraquinone ทำให้เกิดการอักเสบโดยไปเร่งให้มีการหลั่ง prostaglandin ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ (162)  ด้วยเหตุผลดังกล่าวงานศึกษาวิจัยต่อๆมา จึงเป็นเรื่องของวุ้นว่างหางจระเข้
                การนำวุ้นว่านหางจระเข้มาใช้ในการลดการอักเสบได้มีมานานและได้มีการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ (30, 145, 163-164)  การศึกษาพบว่าสารออกฤทธิ์ที่แยกได้จากวุ้นว่านหางจระเข้มีหลายชนิดได้แก่ acemannan (165,166), aloctin A (140-142, 167), aloctin (140), mannose-6-phosphate (28), polysaccharide (168,169)
                กระบวนการออกฤทธิ์ของวุ้นว่านหางจระเข้มีหลายกระบวนการได้แก่
                7.1  ออกฤทธิ์ทำลาย bradykinin
                 bradykinin เป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดการกระทบกระเทือน หรือเกิดบาดแผล มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้สารที่ทำให้อักเสบมาคั่งอยู่ที่บริเวณนี้  ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด bradykinin (141, 166, 170-171)  ซึ่งต่อมาพบว่าคือ enzyme carboxypeptidase หรือ bradykininase (145 -146, 172 -176)  ซึ่งจะย่อยสลาย bradykinin ที่ทำให้เกิดการอักเสบ เอนไซม์นี้สกัดแยกได้จากการนำใบว่านหางจระเข้มาปั่น ซึ่ง Beppu และคณะ (172)  พบว่าเป็นเอนไซม์ที่อยู่ที่เปลือกของใบว่านหางจระเข้ ส่วน Yagi และคณะ (171)  พบว่าสารที่สลาย bradykinin คือ glycoprotein ซึ่งอยู่ในส่วนของวุ้น ซึ่งต่อมามีรายงานว่า protein จากวุ้นว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ทำลาย bradykinin (170)
                7.2  ยับยั้งการสังเคราะห์พรอสต้าแกลนดิน (prostaglandin)
                กระบวนการลดการอักเสบที่สำคัญคือ การยับยั้งการสร้างพรอสต้าแกลนดินอี2 (prostaglandin E2) จาก arachidonic acid ทำให้ลดการอักเสบ (144, 177-178)  ยับยั้ง lipoxygenase (178, 179) methyltransferase I, II (180) และ prostaglandin synthetase (178)  ซึ่งสารสำคัญในการออกฤทธิ์คือ aloctin A (144)  ในการเกิดอักเสบโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดแผลต่างๆ จะมีการหลั่ง thromboxane ซึ่งเป็นสาร prostaglandin ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว และเกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด เป็นผลทำให้เกิดอักเสบบริเวณที่เกิดแผล วุ้นว่านหางจระเข้มีผลยับยั้งการสร้าง thromboxane ซึ่งช่วยให้การอักเสบลดลงและเนื้อเยื่อไม่ตาย (177, 181-183)  และสารออกฤทธิ์คือ glycoprotein (191)  นอกจากนี้ยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญในการสังเคราะห์สาร prostaglandin ที่ทำให้เกิดการอักเสบ (182, 184 -185)  ซึ่งสารออกฤทธิ์ก็คือ glycoprotein (182)
                7.3  ยับยั้งการเกิดสารพวก cytokines ที่ทำให้เกิดการอักเสบได้แก่ TNF-alpha และ IL-6 และยังลดการเกิด leukocyte adhesion (25)  และยับยั้งการหลั่ง IL-8 (177)  การลดการอักเสบของว่านหางจระเข้ อาจเนื่องมาจาก steroid ในว่านหางจระเข้ เนื่องจากมี cholesterol, campesterol และ b-sitosterol และ lupeol ซึ่งเป็น triterpene (186, 187)  นอกจากนี้ยังมีผู้พบ b-sitosterol-3-glucoside และ อนุพันธ์ 6¢-palmatate ร่วมกับ lupeol (188)  และ b-sitosterol เป็นสารซึ่งช่วยลดการอักเสบได้ (29)
                ด้วยการที่ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ลดการอักเสบ จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ ครีมทารักษาโรคผิวหนัง และแผลอักเสบ (189)  ผสมกับ lidocaine และ diphenlydramine ใช้รักษาการอักเสบของผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน (190) และผสมในตำรับรักษาอาการอักเสบเนื่องจาก carrageenan, histamine, serotonin (5-HT), nystatin (191)  ผสมกับ glycyrrhetinic acid รักษาการอักเสบ (192)  และยาตำรับผสมกับสมุนไพรอื่น (193)  การทำเป็นโลชั่นโดยมีวุ้นว่านหางจระเข้ วิตามินซี วิตามินอี และไฮโดรคอร์ติโซน อะซิเตรต เป็นส่วนประกอบหนึ่ง ใช้ทาผิวหนังหลังการโกนขน หรือผม พบว่าสามารถลดการอักเสบ และการระคายเคืองต่อผิวหนัง (194, 195)  มีการนำว่านหางจระเข้ไปรักษาสิว (196-198)  รักษาอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ (199)  รักษาอาการไอ โดยฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้เข้าหลอดลมเป็นเวลา 10 วัน พบว่าได้ผลดี (200)  และมีผู้เตรียมยาหยดแก้ไอจากโพลีแซคคาไรค์ (201)  รักษาอาการอักเสบเนื่องจากหิมะกัด (202)  รักษาอาการโรคปอดอักเสบเรื้อรัง (203)  รักษาเหงือกอักเสบ (204-206)  รักษาอาการบาดเจ็บของนักกรีฑา (207)  นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบจำนวน 42 คน  โดยให้ผู้ป่วย 30 คน รับประทานน้ำว่านหางจระเข้ ขนาด 100 มล. วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์  และผู้ป่วยอีก 14 คน ให้รับประทานยาหลอก  พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับน้ำว่านหางจระเข้ ขนาดของแผลที่ลำไส้ใหญ่ดีขึ้น และมีขนาดเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับน้ำว่านหางจระเข้ แสดงว่าน้ำว่านหางจระเข้ช่วยในการลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ได้ (208)
                มีการจดสิทธิบัตรยาแคปซูล ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดน้ำมะละกอ  น้ำหม่อน  น้ำว่านหางจระเข้ ที่ทำให้แห้ง ขนาด 200, 100 และ 50 มก. (209)  อาหารเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ 85-90% วิตามินซี 3-10% magnesium stearate 0.6-3% และแป้ง 0.4-5% โดยน้ำหนัก (210) ว่าสามารถต้านการอักเสบได้ (209-210)  ยาเม็ดที่มีส่วนประกอบของสาร b-sitosterol (ที่ได้จากวุ้นว่านหางจระเข้) ขนาด 10 มก.  lactose 285 มก. magnesium stearate 5 มก. และ calcium CM-cellulose 25 มก. ว่าสามารถรักษาโรคไขข้ออักเสบได้ (211)

8.        ฤทธิ์เป็นยาระบาย
สารที่พบจากยางที่เปลือก คือ anthraquinone (212)  สาร barbaloin (213) aloin (214-215)  จากว่านหางจระเข้ และตำรับยาที่ประกอบด้วยสารสกัดจากว่านหางจระเข้  สาร sennosides A และ B (216)  มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (212-216)  สาร anthraquinone เมื่อทดสอบในแมว พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย โดยที่สาร anthraquinone ออกฤทธิ์ไปเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ และยับยั้งการดูดซึมกลับของน้ำ (217)   เมื่อป้อนสารสกัด 5% อัลกอฮอล์ของว่านหางจระเข้ให้กับหนูถีบจักรทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ขนาด 15, 20, 30 และ 40 มก. พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบายได้ 45, 53, 58 และ 77% ตามลำดับ (218)  Aloin (214) เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ โดยไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (214, 219-221)
                เมื่อป้อนสาร isobarbaloin และ barbaloin ในว่านหางจระเข้ให้กับหนูขาวเพศผู้ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูเกิดอาการท้องเสียได้ครึ่งหนึ่ง (ED50) ของสาร isobarbaloin และ barbaloin เท่ากับ 19.2 และ 19.5 มก./กก. ตามลำดับ (222)  เมื่อป้อนสาร barbaloin จากว่านหางจระเข้ ขนาด 31.1 มก./5มล./กก. ในสารละลาย 5% gum arabic (223)  สาร aloe emodin 9-anthrone ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของ barbaloin จากว่านหางจระเข้ (224)  พบว่ามีผลในการระบายโดยไปเพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่มากกว่าไปกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ (223, 224)  สาร aloin 60 มก. มีฤทธิ์เป็นยาระบายเมื่อใช้ในคน (225) 
สาร aloe-emodin anthrone, rhein anthrone  และสารผสมของ aloe-emodin anthrone และ rhein anthrone ในความเข้มข้นที่เท่าๆ กัน ขนาด 23.2 ไมโครโมล/กก.  เมื่อนำมาทดสอบในหนูถีบจักร พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย โดยทำให้อุจจาระเหลวมีน้ำมากขึ้น เนื่องจากสารดังกล่าวไปออกฤทธิ์ให้ลำไส้ใหญ่มีการดูดซึมกลับของน้ำลดลง ซึ่งสาร rhein anthrone  และสารผสมของ aloe-emodin anthrone กับ rhein anthrone จะมีฤทธิ์ดีกว่า aloe-emodin anthrone (226)
                 มีการจดสิทธิบัตรยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดมะขามแขก 30-40 ส่วน สารสกัดว่านหางจระเข้ 30-40 ส่วน สารสกัดหมาก 20-30 ส่วน oryzanol 3-4 ส่วน calcium lactate 20-30 ส่วน สามารถป้องกันรักษาอาการท้องผูกได้ โดยไม่มีผลข้างเคียง (227)  เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารสกัด chamomile ว่านหางจระเข้ และชะเอมเทศ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (228)  ยาระบายชนิดแคปซูลที่มีส่วนประกอบของ catechin จากชา 0.5-7% aloin จากว่านหางจระเข้ 0.2-5% และไขมันจากม้า (horse fats) 88-93% สามารถใช้เป็นยาระบายได้โดยไม่มีอาการปวดท้องและท้องเสีย (229)

9.  หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

                9.1  การทดสอบความเป็นพิษ
                มีการรายงานการศึกษาความเป็นพิษของว่านหางจระเข้ทั้งสารสกัด และเจล  เมื่อป้อนว่านหางจระเข้ให้หนูขาวในขนาด 92.5 มก./กก. ไม่พบพิษ (230)  และเมื่อผสมผงว่านหางจระเข้ในอาหารให้หนูขาวกิน พบว่าหนูมีอาการท้องเสีย (231)  มีการทดสอบสารสกัดต่างๆ ในสัตว์ทดลอง  เมื่อผสมสารสกัดอัลกอฮอล์ (95%) ในน้ำ ให้หนูถีบจักรกินในขนาด 100 มก./กก. เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีอาการพิษรวมทั้งขนร่วงและการเสื่อมของอวัยวะเพศ และเมื่อกรอกให้หนูถีบจักรกินในขนาด 3 ./กก. ไม่พบพิษ (232)  เมื่อฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1)  เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 1 ./กก. (233)  เมื่อป้อนสารสกัดอัลกอฮอล์ของใบว่านหางจระเข้ให้หนูถีบจักรกิน พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 120.65 มก./กก. (234)   สารสกัดด้วยน้ำเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 100 และ 800 มก./กก. ไม่พบพิษ และไม่มีสัตว์ตาย (235)  เมื่อฉีดสารสกัด aloe ด้วยอัลกอฮอล์ (95%) เข้าช่องท้อง ขนาดที่หนูทนได้คือ 100 มก./กก. (236)  และเมื่อให้หนูถีบจักรกินสารสกัดที่ได้จากการนำใบว่านหางจระเข้มาปั่นและทำให้เป็นผงด้วยวิธีแช่แข็ง แล้วผสมในอาหาร 1% ให้หนูขาวกิน และอีกตัวอย่างนำไปกำจัดสีก่อนทำเป็นผง แล้วไปผสมอาหาร 1% และ 10% พบว่าทำให้ parathyroid hormone และ calcitonin ลดลง แต่ระดับ glucose และ insulin ในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีผลต่อ cardiac และ hepatic mitochondria และปริมาณโปรตีนไม่เปลี่ยนแปลง (237)  ผลการทดสอบในกระต่ายพบว่า เมื่อฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้ให้กระต่ายปกติและกระต่ายที่มีอาการตับอักเสบ พบว่ากระต่ายมีอายุยืนขึ้น (238)  เมื่อให้ทิงเจอร์ยาดำทางปาก ฉีดเข้าหลอดเลือด ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้าช่องท้อง พบว่าในขนาดสูงทำให้กระต่ายตาย แต่ขนาดน้อยลงมีอาการท้องเสีย หัวใจเต้นช้าลง และทำให้มดลูก และลำไส้เล็กบีบตัว (239)  และเมื่อให้กระต่ายกินว่านหางจระเข้ ทำให้เกิดอักเสบที่ปากช่องคลอด และทางเดินปัสสาวะ (240) ว่านหางจระเข้ยังทำให้เกิดอาการแพ้ (241-243)
                การศึกษาต่อมาได้มีรายงานผลของสารกลุ่ม anthraquinone ซึ่งจะออกมากับกระบวนการสกัด hydroxyanthraquinone กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของมะเร็ง (244)  ยาดำมีผลกระตุ้นการสังเคราะห์ prostaglandin ทำให้เกิดการอักเสบ (245)  ผู้ป่วยที่เป็นโรคดีซ่านเสียชีวิตเมื่อรับประทานยาซึ่งมียาดำ โกฐน้ำเต้า และมะขามแขก การชันสูตรพบว่าตับถูกทำลาย และมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อไต ม้าม หัวใจ และปอด (246)  Aloin ทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง (247)  และยังพบว่าเมื่อฉีด aloin เข้าใต้ผิวหนังสุนัขในขนาด 0.10 – 0.12 ./กกทำให้สุนัขเป็นไข้เป็นเวลา 24 .. และ gas exchange มากกว่าปกติ 2 เท่า มีการผลิต uric acid และ urea เพิ่มขึ้น (248)  และ chromone C-glucoside ซึ่งทำให้เกิดอาเจียนอย่างรุนแรง (249)
                การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังในหนูขาวจำนวน 88 ตัว โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีหนูเพศผู้ และเพศเมีย อย่างละ 11 ตัว  กลุ่มที่1 เป็นกลุ่มควบคุมให้กินอาหารปกติ กลุ่มที่ 2-4 เป็นกลุ่มที่ได้รับผงว่านหางจระเข้ ขนาด 2, 4 และ 8 ก./กก. นน.ตัว (หรือประมาณ 2.5, 5 และ 10% ว่านหางจระเข้) ผสมลงในอาหารตามลำดับ ให้หนูกินนาน 90 วัน  พบว่ากลุ่มที่ได้รับผงว่านหางจระเข้ 8 ก./กก. นน.ตัว มีน้ำหนักตัวลดลง น้ำหนักไตเพิ่มขึ้น น้ำหนักลูกอัณฑะเพิ่มขึ้น ในหนูเพศผู้ และระดับ Blood urea nitrogen (BUN) ในเลือดสูงขึ้น  ส่วนกลุ่มที่ได้รับผงว่านหางจระเข้ 4 ก./กก. นน.ตัว พบว่าความสามารถในการกินอาหารของหนูเพศผู้ลดลง น้ำหนักลูกอัณฑะเพิ่มขึ้น  และกลุ่มที่ได้รับผงว่านหางจระเข้ 2 ก./กก. นน.ตัว พบว่าน้ำหนักไตของหนูเพศเมียสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม  ซึ่งหนูทุกกลุ่มที่ได้รับว่านหางจระเข้ ในขนาด 2, 4 และ 8 ก./กก. นน.ตัว พบว่าไม่มีผลต่อค่าชีวเคมีในเลือดที่ดูการทำงานของตับและไต (Aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), cholesterol, triglyceride, creatinine) ยกเว้นกลุ่มที่ได้รับผงว่านหางจระเข้ 8 ก./กก. นน.ตัว ที่มีระดับ BUN ในเลือดสูงขึ้น  ซึ่งจากการทดลองสรุปได้ว่าผงว่านหางจระเข้ขนาด 2 ก./กก. นน.ตัว เมื่อผสมลงในอาหารและให้กินในระยะยาวอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ (250)
การศึกษาความเป็นพิษของวุ้นว่านหางจระเข้ พบว่าทั้งวุ้นสด และผลิตภัณฑ์วุ้นว่านหางจระเข้ มีค่า LD50 > 20 ./กก. เมื่อให้หนูถีบจักร และหนูขาวกิน หรือฉีดเข้าช่องท้อง ไม่พบการผิดปกติใดๆ ทั้งเคมีเลือด และเนื้อเยื่อ (251)  การให้หนูขาวกิน acemannan ซึ่งผสมในอาหาร 5% เป็นเวลา 14 วัน และให้หนูขาวกิน acemannan 2,000 มก./กก./วัน ไม่พบพิษเช่นเดียวกับเมื่อให้สุนัขกิน 1,500 มก./กก./วัน เป็นเวลา 90 วัน (252)  เมื่อป้อนวุ้นว่านหางจระเข้ขนาด 1, 4, 16, 64 มก./น้ำหนักตัว 100 ก. ให้หนูขาวทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 42 วัน พบว่าไม่มีความผิดปกติของตับและไต (253การทดลองใช้สารละลาย acemennan (1.0 มก./มล.) ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร 80 และ 200 มก./กก. หนูขาว 15 และ 50 มก./กก. และสุนัข 10 และ 50 มก./กก. ไม่พบพิษ (254)
                การรายงานความเป็นพิษของวุ้นว่านหางจระเข้เมื่อให้โปรตีนจากว่านหางจระเข้แก่หนูตะเภาอาจเกิดการแพ้อย่างรุนแรงได้ (255)  และการใช้ว่านหางจระเข้อาจเกิดอาการแพ้ได้ (54)  การใช้แผ่นแปะซึ่งมี acemennan จะทำให้เกิด alveolar osteitis น้อยกว่าการใช้แผ่น clindamycin (62)  และมีรายงานว่าเมื่อฉีดว่านหางจระเข้เข้าใต้ผิวหนังเกิดอาการช็อคหมดสติ ผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ในครอบครัว (256) 
                 9.2   ผลต่อระบบสืบพันธุ์
                มีการศึกษาฤทธิ์ทำให้แท้งของสารสกัดว่านหางจระเข้หลายการทดลอง (257-260)  เมื่อฉีดสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยน้ำ อัลกอฮอล์ (95%) และปิโตรเลียมอีเทอร์เข้าช่องท้องหนูขาว พบว่าไม่ทำให้แท้ง (257)  และเมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำ และอัลกอฮอล์ (95%) ให้หนูขาวก็ไม่ทำให้แท้งเช่นกัน และต่อมามีผู้รายงานว่า aloin ทำให้แท้ง (259) และสารสกัดใบว่านหางจระเข้ในขนาด 0.5 มก. ทำให้มดลูกบีบตัว  นอกจากนี้มีการทดลองนำเอาสารสกัดว่านหางจระเข้ซึ่งทำให้แห้งด้วยวิธีแช่แข็ง ความเข้มข้น 7.5% และ 10%  สามารถฆ่าเชื้ออสุจิได้โดยไม่มีอันตรายต่อผิวเยื่อบุช่องคลอดของกระต่าย (261)
                9.3   พิษต่อตัวอ่อน
                การศึกษาความเป็นพิษต่อตัวอ่อน พบว่าเมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยเบนซิน เอทานอล (50%) และคลอโรฟอร์ม ในขนาด 100 มก./กก. เป็นพิษต่อตัวอ่อน (262)  เมื่อให้สารสกัดอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ในขนาด 100 และ 200 มก./กก. เป็นพิษต่อตัวอ่อนเช่นกัน (263)  ส่วนอีกการทดลองเมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดด้วยเบนซินและอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ไม่มีพิษต่อตัวอ่อน (264)  ส่วนสารสกัดด้วยน้ำ เมื่อป้อนให้หนูขาวที่ท้อง ในขนาด 125 มก./กก. มีผลต่อตัวอ่อน ทำให้พิการ (265)  และมีผู้พบว่าการรับประทานยาดำ ทำให้ทารกในท้องมีอาการท้องเสีย (266) 
                9.4   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และต้านการก่อกลายพันธุ์
                การศึกษาพบว่าสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยอัลกอฮอล์ (95%) ในขนาด 10 มคก./จานเพาะเชื้อ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์อย่างอ่อน (267)  ส่วนสารสกัดว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ (268)  ต่อมามีผู้ศึกษาพบสารที่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์คือ anthraquinone glycoside (269)  และ hydroxyanthraquinone (270)
                นอกจากศึกษาฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์แล้ว ยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ (271) พบว่ายาชงว่านหางจระเข้ในขนาด 100 มคล./แผ่น ไม่สามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ของ methanesulfonate ใน Salmonella typhimurium TA98 และ TA100  ต่อมาพบว่าว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์   Aloe emodin ซึ่งสกัดได้จากสารสกัดเมทานอลสามารถยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ใน S. typhimurium TA98 (272-273)  ส่วนสกัดที่แยกได้จากคอลัมน์โครมาโตรกราฟฟี่ในขนาด 50 มคก./จานเพาะเชื้อ สามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ใน S. typhimurium TA 98 และ TA100 (274)  ต่อมาพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์ม และ di (2-ethylhexyl) phthlate มีฤทธิ์ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ใน S. typhimurium (275)

9.5      พิษต่อเซลล์

การทดสอบความเป็นพิษของวุ้นว่านหางจระเข้ต่อเซลล์ พบว่าไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ แต่กลับทำให้เซลล์จับตัวกัน แต่มีผลต่อเซลล์มะเร็ง human cervical ME180 (69)  ไม่มีผลต่อ Hela cell และ kidney cell (276)  มีผลต่อ C3H10 T 1/2 (277)
                นอกจากศึกษาผลของวุ้นว่านหางจระเข้ มีผู้ศึกษาผลของสารสกัดน้ำ และอัลกอฮอล์ พบว่าเป็นพิษต่อเซลล์ Sarcoma 37 (278)  และมีผู้ศึกษาสารที่อยู่ในว่านหางจระเข้พบว่า aloe emodin เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง leukemic K562  ส่วน glycoside ไม่มีผล (279) และมีผลต่อ lymphatic leukemic cell (280)  Diethylhexylphthalate มีผลต่อเซลล์มะเร็งหลายสายพันธุ์ได้แก่ leukemic K562, HL60 และ U937 (281)  นอกจากนี้มีผู้พบว่าสารซึ่งมีน้ำหนักโมเลกุลน้อยมีผลเหมือน aloe emodin คือเป็นพิษต่อ monolayer chicken fibroblast (282)
                9.6   พิษต่อยีนส์
                สารสกัดวุ้นว่านหางจระเข้เป็นพิษต่อยีนส์ของเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli  แต่ไม่มีผลในการทำลายเซลล์เมมเบรนของเชื้อ E. coli  (283)


การใช้ว่านหางจระเข้รักษาอาการท้องผูก
             กรีดยางจากว่านหางจระเข้มาเคี่ยวให้งวด ทิ้งไว้ให้เย็นจะได้ก้อนสีดำ (ยาดำ) ตักมาปลายช้อนชา เติมน้ำเดือด 1 ถ้วย คนให้ละลาย เด็กรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา ก่อนนอน (284)

การใช้ว่านหางจระเข้รักษาแผล, ฝี
             นำใบสดมาปอกเอาแต่วุ้นถู และปิดที่แผลเนื่องจากโดนความร้อน การรีบรักษาใน 24 ชั่วโมง จะทำให้การรักษาได้ผลดี (285, 286)
ข้อควรระวัง
1. ระวังเรื่องการติดเชื้อ เพราะวุ้นว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ
2. วุ้นว่านหางจระเข้ไม่คงตัว ถ้าปอกแล้วเก็บไว้ได้เพียง 6 ชั่วโมง
3. ควรปอกแบบ aseptic technique เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
4. ระวังการปนเปื้อนของ anthraquinone ซึ่งทำให้แพ้ได้ จึงต้องล้างวุ้นให้สะอาด

การใช้ว่านหางจระเข้รักษาอาการบวม, ฟกช้ำ, อักเสบ, แมลงกัดต่อย, เริม
ใช้น้ำคั้นจากวุ้นทาหรือพอกบริเวณที่อักเสบ ฟกช้ำ แพ้ (285)

ขอขอบคุณที่มาข้อมูล  : http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/alovera.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น