6. ไม้ประดับ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ประเทศในเขตอบอุ่นทั้งในทวีปเอเซีย อเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย จะมีการปลูกหม่อนไว้เป็นประดับตามสนามหญ้าหน้าบ้านหรือหลังบ้าน โดยเฉพาะหม่อนย้อยหรือหม่อนระย้า ที่มีลักษณะแตกต่างจากหม่อนทั่ว ๆ ไป คือ เมื่อแตกกิ่งใหม่กิ่งจะย้อยห้อยลงมาตามแรงดึงดูดของโลก ไม่ได้ตั้งตรงขึ้นไปเช่นพันธุ์อื่น ทำให้ดูเป็นพุ่มสวยงาม เคยมีผู้นำหม่อนระย้ามาปลูกที่ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา แต่ทราบว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ท่านที่มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นและออสเตรเลีย น่าจะนำมาปลูกและขยายพันธุ์ให้แพร่หลายต่อไป ถนนบางสายในประเทศญี่ปุ่น เช่น ที่เมืองมัตสุโมโต้ มีการปลูกหม่อนเป็นไม้ประดับตลอดสาย มีการตัดแต่งให้เป็นพุ่ม ดูสวยงามไม่แพ้ไม้ชนิดอื่น ชาวไทยยังไม่นิยมใช้หม่อนเป็นไม้ประดับ อาจจะเป็นเพราะว่าพันธุ์พื้นเมืองไม่มีดอกที่สวยงาม ไม่มีผลให้รับประทาน แต่ปัจจุบัน หม่อนหลายพันธุ์ ที่มีผลใหญ่น่ารับประทาน เช่น พันธุ์บุรีรัมย์ 60 นครราชสีมา 60 ศรีสะเกษ 33 จีนเบอร์ 44 เมื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงประโยชน์ของผลหม่อน ประชาชนโดยทั่วไปอาจปลูกไว้เป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ มีต้นหม่อนปลูกไว้เป็นไม้ประดับอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟชุมพรตัดแต่งเป็นพุ่มดู สวยงาม ดูแล้วคงมีอายุหลายปี แต่เสียดายที่มีเพียงต้นเดียว
7. อาหารสัตว์
ใบหม่อนนอกจากใช้เป็นอาหารของหนอนไหมแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่ชื่นชอบรสชาติของใบหม่อน เกษตรกรที่ไม่ล้อมรั้วแปลงหม่อนคงจะทราบดี นั่นคือ วัวและควายที่มักจะแอบมากินใบหม่อนก่อนหนอนไหมอยู่บ่อย ๆ แต่ที่จะกล่าวถึง คือ การนำใบหม่อนไปเลี้ยงปลา คุณกอบกุล แสนนามวงษ์ นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานี ได้ทดลองเลี้ยงไหมด้วยเศษใบหม่อนที่เหลือจากการเลี้ยงไหมไปเลี้ยงปลานิล พบว่าปลานิลมีการอยู่รอดถึง 98% หลังการเลี้ยง 6 เดือน ในขณะที่การเลี้ยงด้วยอาหารปลากินพืชลอยน้ำอยู่รอด 94% แม้ว่าน้ำหนักปลาที่ได้จะน้อยกว่ากันก็ตาม (93.7 กรัม และ 133.0 กรัม/ตัว ตามลำดับ) ในประเทศจีนมีการเลี้ยงไหมในหลาย ๆ คอมมูนด้วยกัน ดังนั้นวิธีนี้ก็สามารถนำมาเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้ทางหนึ่งเช่นกัน
8. วัสดุเพาะเห็ด
คุณชวนพิศ สีมาขจร และคุณพินัย ห้องทองแดง แห่งศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมาได้นำกิ่งหม่อนที่เหลือจากการเลี้ยงไหม เป็นวัสดุหลักในการเพาะเห็ดหอมและเห็ดนางรมโดยใช้มูลไหมหรือรำข้าวละเอียดใน อัตรา 5% เป็นส่วนผสมพบว่าสามารถใช้กิ่งหม่อนเป็นวัสดุเพาะเห็ดหอมสายพันธุ์ L31 และเห็ดนางรมสายพันธุ์จากภูฏาน ฮังการี และเยอรมนีได้ดี ยกเว้นการเพาะเห็ดหอม ไม่ควรใช้มูลไหมเป็นอาหารเสริม เนื่องจากมูลไหมทำให้วัสดุเพาะย่อยสลายเร็ว และเห็ดหอมต้องใช้เวลาบ่มเชื้อเห็ดที่ออกดอกหมดแล้ว และเริ่มย่อยสลายสามารถใช้ เป็นปุ๋ยได้ โดยก้อนเชื้อเห็ดหอม มีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมเท่ากับ 2.38, 0.31 และ 1.26% ส่วนก้อนเชื้อเห็ดนางรมมีปริมาณ 0.81, 0.21 และ 0.39% ตามลำดับ
9. ของที่ระลึกและอุปกรณ์กีฬา
ไม้หม่อนที่เหลือจากการตัดแต่งใช้ใบไปเลี้ยงไหมแล้ว กิ่งที่ลอกเปลือกออกและไม่ได้ลอกเปลือกสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของที่ระลึก ได้หลากหลายชนิด หรือของใช้ไม้สอยได้หลายอย่าง อาทิ กระเช้า หรือ ตะกร้าใส่แยมฯลฯ กิ่งหม่อนขนาดใหญ่หรือโคนหม่อนนำมาแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทำเป็นพวงกุญแจหรือตั้งประดับในตู้กระจก หรือทำแบบจำลองวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเป็นของที่ระลึกหรือทำเป็นอุตสาหกรรมในครอบ ครัวจำหน่ายได้ ในประเทศอินเดีย มีการใช้ไม้หม่อนทำอุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้เบสบอล คริกเก็ตและอื่นๆ อุปกรณ์กีฬาที่ทำจากไม้หม่อนถือว่ามีคุณภาพสูง
10. ปุ๋ยและเชื้อเพลิง
ในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกามีการใช้กิ่งหม่อนที่ได้จากการเลี้ยงไหม ตลอดจนตอหม่อนที่หมดอายุมาเป็นเชื้อเพลิง สำหรับประเทศไทยพบว่ามีการนำหม่อนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงน้อยมาก เนื่องจากนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดใส่ในแปลงหม่อนแทน
-------------------------------------- @ ^ - ^ @ -----------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น