วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ขอเรียกว่า ยอดคุณพ่อ น่าจะเหมาะสมที่สุด

นี่สิ..ลูกผู้ชายตัวจริง (ขอเรียกว่า ยอดคุณพ่อ แห่งศตวรรษ)


จากเรื่องจริง
ลูกชายถามพ่อว่า
พ่อครับ พ่อจะเต็มใจไปวิ่งมาราธอนกับผมหรือเปล่า
แม้ว่าพ่อจะเป็นโรคหัวใจและอายุมากแล้ว เขาตอบลูกว่า ได้สิลูก  
แล้วพ่อกับลูกก็ไปวิ่งมาราธอนด้วยกัน
อีกครั้ง ลูกชายถามพ่อว่า
พ่อครับ เราไปแข่งวิ่งมาราธอนด้วยกันอีกไหมครับ
พ่อตอบลูกชายเช่นเดิมว่า ได้สิลูก
สองพ่อลูกลงแข่งมาราธอนด้วยกันอีกครั้ง 
อีกวันนึง ลูกชายบอกพ่อว่า
พ่อครับ ไปแข่ง Iron Man กับผม นะครับพ่อ

ถึงตรงนี้  เผื่อคุณไม่รู้ว่า iron man คืออะไร
iron man หรือ การแข่งขันยอดมนุษย์เหล็ก
ซึ่งเป็นการแเข่งขันไตรกีฬาที่โหดที่สุด
คุณต้องว่ายน้ำ
4 กิโล ขี่จักรยาน 180 กิโล วิ่งอีก 42 กิโล
ติดต่อกันจนกว่าจะเข้าเส้นชัย
อ่านแค่นี้ คุณอาจจะยังไม่รู้สึกอะไร จนกว่าคุณจะได้ดูคลิปนี้

VDO แข่งขันไตรกีฬา
Father runs triathlon with his son in tow



VDO รวมเรื่องราว ตั้งแต่เด็ก


ขอสารภาพว่าตอนแรกที่อ่านข้อความข้างบนนี้จากฟอร์เวิร์ดเมล์
ที่เพื่อนส่งมาให้ก็ยังไม่รู้สึกอะไร จนได้เปิดดูคลิปใน you tube นั่นแหละ
ถึงได้มีอาการแอบน้ำตาซึมกะเขาเหมือนกัน
ยิ่งเข้าไปอ่านเรื่องราวของทีมฮ้อยท์ในเวบ
ยิ่งประทับใจกับพลังของความรักที่พ่อคนนี้
ส่งต่อผ่านลูกชายไปยังผู้คนทั่วโลก
จะมีพ่อสักกี่คนกันที่จะเป็นฮีโร่ตัวจริงของลูกได้เท่าผู้ชายคนนี้ 
หัวใจของพ่อลูกคู่นี้ยิ่งใหญ่งดงาม
จนอดนึกไม่ได้ว่า
หากทุกคนสามารถมอบความรักให้คนในครอบครัวหรือใกล้ตัวได้ขนาดนี้
อบอุ่น น่าอยู่ขึ้นอีกมากมาย



ทีมฮ้อยท์ (Team Hoyt) หรือคู่พ่อลูก ดิคและริค ฮ้อยท์ ชาวแมสซาชูเซทส์
สหรัฐฯ  ผู้โด่งดังจากการเข้าแข่งขันรายการมาราธอน  รายการไตรกีฬา
และการแข่งขันกีฬาทรหดอื่นๆด้วยกัน 
ริคลูกชายพิการทางสมองตั้งแต่เล็ก เพราะสายรกพันคอทำให้สมองถูกทำลายจากการขาดออกซิเจน

ภาพที่ทุกคนคุ้นตาคือ  ภาพดิคผู้พ่อว่ายน้ำลากเรือบรรทุกริค ปั่นจักรยาน
โดยมีริคนั่งอยู่ด้านหน้า และเข็นเก้าอี้วีลแชร์ของริคแข่งวิ่งไปด้วยกัน
ดิคและจูดี้ภรรยาไม่สนใจคำพูดของหมอตอนริคอายุได้ 9 เดือนที่บอกให้ทิ้งริคไว้กับสถานดูแลคนพิการเพราะริคจะเป็นได้แค่มนุษย์ผักตลอดชีวิต
ดิคและจูดี้สังเกตเห็นริคกวาดสายตาไปรอบๆ ห้องมองตามพวกเขาตลอด

ทั้งคู่พาลูกกลับบ้าน มุ่งมั่นที่จะเลี้ยงริคเหมือนคนปกติเท่าที่จะทำได้ ดิคกับจูดี้เชื่อว่าริคฉลาดไม่น้อยไปกว่าน้องชาย 2 คนที่เกิดมา

หลังจากนั้น ดิคต่อสู้เพื่อให้ริคได้เข้าเรียนเหมือนเด็กปกติทั่วไป 
ดิคบอกครูและเจ้าหน้าที่การศึกษาว่า การที่ริคพูดไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าริคไม่รู้เรื่อง สองคนพ่อแม่สอนพยัญชนะและสระให้กับลูก และพยายาม
ให้ริคได้ัรับการยอมรับและมีส่วนร่วมในทุกๆอย่างเสมอ  

เมื่อริคอายุ 11 ปี ดิคกับจูดี้พาริคไปที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย
Tufts    เพื่อปรึกษาหาเครื่องมือช่วยริคในการสื่อสาร 

แม้จะถูกปฏิเสธในตอนแรกเพราะไม่มีใครเชื่อว่าสมองของริคจะรับรู้อะไรได้
ดิคยืนยันท้าทายให้คนที่นั่นลองเล่าเรื่องตลกให้ริคฟังริคหัวเราะและทำให้
วิศวกรที่ทัฟท์รู้ว่า ริคเฉลียวฉลาดและสมองยังทำงานได้หลายส่วน พวกเขา
ช่วยประดิษฐ์คอมพิวเตอร์พิเศษให้ริคสามารถสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของเขาได้  ริคอาศัยการขยับศีรษะไปมาในการเลื่อน cursor ไปตามตัวอักษรต่างๆหน้าจอและสัมผัสสวิทซ์ข้างๆศีรษะให้ cursor หยุดที่ตัวอักษรที่เขาต้องการ  
ดิคผู้พ่อต้องทำงานนอกเวลาเพื่อหาเงินระดมทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ
เครื่องมือสื่อสารราคา 5,000 เหรียญของลูก 

เมื่ออายุได้ 12 ปี คำแรกที่ริค พิมพ์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์นี้  ก็คือ  
“Go Bruins” (ประมาณ  Bruins สู้ สู้ )
เป็นการเชียร์ทีมฮอคกี้ที่กำลังแข่งขันรอบสุดท้ายในขณะนั้น 
ทำให้ครอบครัวรู้ว่า ริครักและเป็นแฟนกีฬาคนนึง 

 พ่อลูกคู่นี้เริ่มแข่งขันครั้งแรกเมื่อปีคศ 1977 ในการวิ่งการกุศล 5 ไมล์ของโรงเรียนเพื่อช่วยเพื่อนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาลาครอส   
ดิคผู้มักจะเรียกตัวเองว่าหมูขุนและไม่เคยวิ่งได้เกินครั้งละไมล์   
ตอบตกลงที่จะวิ่งเข็นวีลแชร์ไปกับลูก 

การวิ่งครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของริค ริคมีความสุขมากเขาพิมพ์คอมพิวเตอร์
บอกพ่อว่า

พ่อครับ เวลาที่เราวิ่งด้วยกัน ผมรู้สึกว่าผมไม่ใช่คนพิการเลย 

ประโยคนี้เปลี่ยนชีวิตของดิคเช่นกัน นับแต่วันนั้น ดิคทำทุกอย่าง
ที่ทำให้ลูกรู้สึกเช่นนั้นบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปี
1979 ดิคเริ่มฟิตร่างกายอย่างหนักเตรียมตัวแข่งบอสตันมาราธอนกับริค
ลูกชาย
  แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในการแข่งขันในปีนั้น เพราะขาด
คุณสมบัติในการเป็นนักวิ่ง   ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
ทั้งสองคนได้แต่ร่วมวิ่งไปพร้อมๆกับกลุ่มคนทั่วไปอยู่ 2-3 ปี กว่าจะได้รับ
อนุญาตให้ลงแข่งขันบอสตันมาราธอนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในปี 1983 
หลังจากไปทำเวลาเข้าเส้นชัยใน 2 ชั่วโมง 45 นาที จากการแข่งขันมาราธอน
ที่วอชิงตันดีซีได้สำเร็จ  

เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจแรงต่อต้านที่สองพ่อลูกเคยเจอในอดีต
 ทัศนคติ
ที่ผู้คนมีต่อคนพิการเริ่มเปลี่ยนไป หลังจากที่ดิคและริคเข้าร่วมการแข่งขัน
บอสตันมาราธอน และได้อยู่ในกลุ่มต้นๆที่เข้าถึงเส้นชัย 

ดิคเล่าให้ฟังถึงวันวานที่น่าเศร้ามากกว่าจะขุ่นเคืองว่า


"ไม่มีใครอยากให้ริคลงแข่งด้วย ทุก คนได้แต่มอง ไม่พูดอะไร ไม่มีใคร
อยากเข้ามาเสวนาหรือสุงสิงกับเรา แต่คุณว่าพวกเขาไม่ได้หรอก
คนไม่ค่อยเข้าใจและมีความรู้เรื่องคนพิการ ไม่เคยเห็นคนแบบเราสองพ่อลูก  
จนเวลาผ่านไปได้สักพักนึง พวกเขาถึงได้เห็นว่า ริคก็เป็นมนุษย์คนนึงเหมือนกัน  
เช่น เป็นคนที่มีอารมณ์ขันสุดๆ  หลังจากนั้น นั่นแหละ ทุกอย่างถึงได้
เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก" 



หลังจากเข้าร่วมการแข่งขันมาราธอนได้ 4 ปี มีคนชวนให้ดิคลงแข่งไตรกีฬาเพราะเห็นศักยภาพของเขา ดิคตอบตกลงโดยมีข้อแม้ว่าต้องมีริคแข่งด้วยเท่านั้น ผู้ชายกลางคนที่ขี่จักรยานครั้งสุดท้ายตอนอายุ 6 ขวบ ไม่เคยเรียนว่ายน้ำและจมดิ่งลงไปเหมือนก้อนหินในครั้งแรกที่ลงน้ำ อย่างดิคต้องกลับมาฝึกฝนใหม่ เพื่อจะเข็นและลากลูกชายหนัก 110 ปอนด์วิ่ง 10 ไมล์ ว่ายน้ำอีก 1 ไมล์ ขี่จักรยานอีก  50 ไมล์ ไปด้วยกันตลอดการแข่งขันไตรกีฬาที่จัดขึ้นในวันพ่อปี 1985  แม้จะได้ตำแหน่งรองบ๊วย สองพ่อลูก ทีมฮ้อยท์ก็หัวเราะและมีความสุขกับของขวัญวันพ่อที่ริคให้กับดิค 




ตั้งแต่นั้นมา ทีมฮ้อยท์ (team hoyt) ก็เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งในและนอกประเทศ  
และพยายามพัฒนาเวลาในการเข้าเส้นชัยเรื่อยๆ  
ทุกๆการแข่งขันริครู้สึกว่าความพิการของเขาหายไป 
ความรักในเกมกีฬาและการแข่งขันของริค
เป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้ดิคผู้พ่อ  
ในขณะที่สำหรับริค

"พ่อเป็นแบบอย่างของผม เมื่อพ่อตั้งใจทำอะไร  ไม่ว่าเรื่องไหน พ่อจะมุ่งมั่นกับสิ่งนั้นจนสำเร็จ อย่างตอนที่เราตัดสินใจเข้าแข่งไตรกีฬา พ่อออกกำลังกายวันละ  5 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 5 วัน ไม่หยุดแม้แต่ในวันทำงาน”  


แรงบันดาลใจที่พ่อลูกมีให้กันและกันยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆอีกด้วย  
ทั้งคนดูและเพื่อนผู้เข้าร่วมการแข่งขันต่างยึดถือทีมฮ้อยท์เป็นตัวอย่างของความ
มุ่งมั่นที่ทรงพลัง ดิคบอกว่ามันเป็นเรื่องสนุกที่ได้เห็นทั้งคนที่ฟิตร่างกายมา
เป็นอย่างดีหรือ หุ่นยังไม่เข้าที่ เดินเข้ามาขอบคุณแล้วบอกว่า เพราะทีมฮ้อยท์
พวกเขาถึงมาอยู่ที่นี่

ริคโน้ตเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันไว้ว่า

"ทุกครั้งที่เราขี่จักรยานผ่านนักกีฬาคนอื่นๆ พวกเขาจะร้องบอกว่า สู้ สู้ !
  
ไม่ก็  ริค ช่วยพ่อนายด้วยนะ  หรือตอนที่เราวิ่งผ่านคนอื่นๆ
พวกเขาจะร้องเชียร์ ทีมฮ้อยท์ สู้ สู้  หรือ ถ้าไม่เพราะพวกคุณ
เราคงไม่ออกมาแข่งแบบนี้"  


สิ่งสำคัญที่สองพ่อลูกได้เห็นก็คือ ความพยายามของพวกเขามีความหมายต่อคนพิการ และมีีผลกระทบต่อทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการทางกายและสมอง

"เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่" ดิคบอก "คนในสังคมต้องได้รับการศึกษาในเรื่องนี้
 ริคกำลังช่วยหลายๆครอบครัวที่มีลูกหลานทุพพลภาพในการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับในสังคม"


แต่นั่นก็ยังไม่ได้หมายความว่าอุปสรรคของสองพ่อลูกจะถูกขจัดออกไปได้
ทั้งหมด  ดิคยังอดขุ่นใจไม่ได้เมื่อเห็นคนรู้สึกพะอืดพะอมหรือรังเกียจเวลา
เห็นริคไม่สามารถควบคุมลิ้นเวลากินอาหารได้   

ในร้านอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนแก่ๆเท่านั้น พวกเขาจะเปลี่ยนโต๊ะทันที หรือ ลุกหนีออกไป เวลาเห็นเศษอาหารไหลย้อยออกมาจากปากริค  
แต่ผมต้องบอกว่าความรู้สึกทนไม่ได้แบบนั้นค่อยๆหายไป "

ความสำเร็จของริคนอกเหนือจากการเป็นคู่ดูโอด้านกีฬากับพ่อ
คือการเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบอสตันและได้รับปริญญาตรีในปี 1993
ด้านการศึกษาพิเศษ ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่อาทิตย์  ริคก็เข้าร่วม
ในการแข่งบอสตันมาราธอนอีกครั้ง ริคจำภาพงดงามวันนั้นได้เป็นอย่างดี
วันที่แข่งมาราธอน ทุกคนในสนามอวยพรให้เขาโชคดี และร่วมกันลงชื่อเขียนข้อความยินดีที่เขาสำเร็จการศึกษา


หากนับถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ กว่า 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งคู่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทั้งหมด รวมแล้วกว่า 984 รายการ
(เป็นไตรกีฬา 229 ครั้ง 6 ในนั้นคือการแข่งขัน iron man ยอดมนุษย์เหล็ก  
น่าประทับใจขนาดไหนสำหรับพ่อสูงอายุที่ต้องลากลูกชายหนุ่มใหญ่กับการแข่งขันติดต่อกัน 15 ชั่วโมงอย่างเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส ผ่านหนุ่มฉกรรจ์ผู้ร่วมแข่งขันหลายคนตั้งหลายครั้ง  ทวิกีฬา 20 ครั้ง มาราธอน 66 ครั้ง แข่งสกี  ไต่เขา ร่วมขี่จักรยานและวิ่งข้ามประเทศรวมระยะทาง 3,735  ใน 45 วัน)

เคยมีคนถามดิคก่อนหน้านี้ว่า ทำไมไม่ลองลงแข่งเองคนเดียวบ้าง เพราะขนาดต้องแบกลูกชายปุเลงๆไปแข่งด้วยอย่างนี้ ยังทำสถิติได้ขนาดนี้  
ดิคตอบว่า ไม่มีทาง  

แรง บันดาลใจที่ทำให้ดิค เข้าร่วมการแข่งขันทุกอย่างคือความสุขที่ได้ จากการเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของริคทุกครั้งที่ได้วิ่ง ว่ายน้ำ และ ปั่นจักรยานไปพร้อมกัน สิ่งที่พ่อลูกทำร่วมกันเหมือนการรักษาชีวิตของกันและกัน ครั้งนึงดิคเคยหัวใจวายในขณะแข่งขัน หลอดเลือดแดงของริคอุดตันถึง 95%  หมอบอกว่า ถ้าไม่ใช่เพราะการออกกำลังกายและดูแลตัวเองเป็นอย่างดีเพื่อการแข่งขัน ดิคอาจจะตายตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว



ปัจจุบัน ดิคอายุ 68 เป็นนาวาโทเกษียณอายุราชการจากกองทัพอากาศ

ริคอายุ 46 ทำงานอยู่ที่ห้องแลบคอมพิวเตอร์ที่บอสตันคอลเลจ
 
กำลังช่วยพัฒนาโปรแกรม  "Eagle Eyes" เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาต

สามารถใช้การเคลื่อนไหวของลูกตาในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์

ช่วยเหลือต่างๆ อาทิ  วีลแชร์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์

ริคอาศัยอยู่ที่อพาร์ตเม้นท์ของเขาเองโดยมีคนดูแล

ทั้งสองพ่อลูกยังหาเวลาทำกิจกรรมด้วยกันอยู่เสมอ

ทั้งในการเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆทุกสุดสัปดาห์

ควบคู่ไปกับการออกทัวร์เป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจ

ให้กับผู้คนทั่วประเทศ  

ริคมั่นใจว่า การที่คนได้เห็นความพยายามของเขา

และความมุ่งมั่นอุทิศตนของพ่อ  ก่อให้เกิดผลลัพท์ที่ทรงพลัง

มีคุณค่ามากสำหรับโลกใบนี้

โลกที่มีการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ

ดิคและริคอยากจะสื่อให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจว่า

คนทุกคนควรได้รับการยอมรับให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีความบกพร่องทางร่างกายหรือไม่ก็ตาม


ริคเคยบอกว่าสิ่งที่เขาหวังอยากทำมากที่สุด  คือ
การขอให้พ่อมานั่งเก้าอี้วีลแชร์ของเขา ให้เขาได้เข็นรถให้พ่อบ้าง
 
สำหรับริค  ดิคคือพ่อแห่งศตวรรษ พ่อไม่เพียงแต่เป็นแขนและขา

ของเขาเท่านั้น แต่พ่อยังเป็นแรงบันดาลใจ เป็นคนให้โอกาสเขา

ได้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปอย่างเต็มที่ที่สุด และพ่อยังเป็นแรง

บันดาลใจให้คนอื่นๆได้ทำในสิ่งเดียวกันอีกด้วย




ขอขอบคุณ

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก www.teamhoyt.com
ภาพและเพลงจากอินเตอร์เนต

และ ขอขอบคุณ...ทีมฮ้อยท์ (team hoyt) ดิคและริค

สำหรับเรื่องราวที่งดงามของพวกคุณที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า

การแสดงออกซึ่งความรักความผูกพันที่มีให้กัน

แต่ทำให้ฉันรู้ว่าพลังของความรักที่แท้ยิ่งใหญ่ขนาดไหน

ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้สำหรับหัวใจที่ยิ่งใหญ่

ไม่ว่าจะอยู่ในร่างกายแบบไหน

พวกคุณทำให้ฉันเห็นว่า

วันนี้ ขอเพียงเราเข้าใจสิ่งที่เพื่อนมนุษย์บางกลุ่มต้องเผชิญ

เราอาจเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่มีต่อกัน

ทำให้หัวใจของเพื่อนร่วมโลกสดใสและมีความสุขมากกว่า



สุดยอดแห่งความสุขของครอบครัวตัวจริง ไม่มีเสแสร้ง ทำเพื่อให้โลกรู้ว่า 

ถ้ามีใจให้กันแล้ว อะไรก็ไม่สามารถปิดกั้น  ทำได้เกินกว่าความเป็นพ่อ



 credit http://www.oknation.net/blog/print.php?id=339049

ขอบคุณ  ภูผาน้ำฝน  สำหรับเนื้อหาและการให้คำบรรยายที่ได้ประทับใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น